ในแวดวงวรรณกรรมอินโดนีเซีย มีเพียงไม่กี่ชื่อที่โดดเด่นและทรงอิทธิพลเท่า ราติห์ คุมาลา ในปี 2024 เธอประสบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ด้วยการคว้ารางวัล Chommanard Women’s Literary Award 2024 อันทรงเกียรติ ซึ่งยกย่องเธอในฐานะนักเล่าเรื่องที่มีพลังและการถ่ายทอดภาพชีวิตชาวอินโดนีเซียอย่างลึกซึ้ง
เส้นทางของราติห์เริ่มต้นจากนักเขียนเรื่องสั้น จนกระทั่งประสบความสำเร็จจากการที่นิยายของเธอ “Cigarette Girl” ถูกดัดแปลงเป็นซีรีส์โดย Netflix ซึ่งได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซีรีส์นี้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมของอินโดนีเซียผ่านธุรกิจครอบครัว ในการผลิตบุหรี่ และได้รับรางวัล “ซีรีส์ขนาดสั้นยอดเยี่ยม” จากงาน Seoul Drama Awards 2024 ควบคู่ไปกับเรื่อง Three-Body Problem และรางวัล “ผู้กำกับยอดเยี่ยม” จาก Asia Contents Awards & Global OTT Awards แด่ผู้กำกับ Kamila Andini และ Ifa Isfansyah
แรงบันดาลใจและเส้นทางสู่การเป็นนักเขียน
ราติห์เล่าว่า “ฉันเริ่มเขียนตอนเรียนมหาวิทยาลัย ประมาณปี 2001 ตอนนั้นฉันเข้าร่วมชมรมอ่านหนังสือเล็ก ๆ ที่เมืองโซโล เรามักจะพบกันที่ร้านหนังสืออินดี้ พูดคุยเรื่องวรรณกรรม และฉันรู้สึกชื่นชอบกับการเล่าเรื่อง ฉันส่งเรื่องสั้นไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น จนกระทั่งในปี 2004 ฉันได้รางวัลที่ 3 จากสภาศิลปะแห่งจาการ์ตา ตอนนั้นฉันรู้เลยว่านี่คือทางของฉัน แม้จะไม่ใช่อาชีพที่มั่นคงก็ตาม แม้แต่แม่ฉันยังคิดว่า “นักเขียน” น่าจะใกล้เคียงกับ “นักข่าว” มากกว่าอาชีพจริงจัง เพราะในอินโดนีเซีย การเขียนหนังสือยังไม่ใช่เรื่องง่าย ในการเลี้ยงชีพ
อาชีพนักเขียนบท มีอิทธิพลต่อการเขียนนิยายอย่างไร
“การเขียนบทโทรทัศน์เป็นประสบการณ์ที่เข้มข้นและให้บทเรียนมากมาย แตกต่างจากการเขียนนิยายที่ทำคนเดียว การเขียนบทต้องทำงานกันเป็นทีมและปรับตามผู้ชม ฉันเรียนรู้ความยืดหยุ่น และยังสามารถหารายได้ระหว่างเขียนนิยายด้วย ฉันแยกบทบาทของตัวเองชัดเจน บทโทรทัศน์คืออาชีพ ส่วนนิยายคืองานสร้างสรรค์ส่วนตัว”
จุดเริ่มต้นของ “Cigarette Girl” และแรงบันดาลใจจากเรื่องนี้
ราติห์เล่าถึงที่มาว่า “มาจากเรื่องเล่าของคุณตาฉันที่ทำธุรกิจบุหรี่ในชวากลาง แม้ท่านจะเสียชีวิตก่อนฉันเกิด แต่เรื่องของเขายังมีอยู่เสมอในครอบครัวของเรา ตอนเทศกาลวันที่รวมญาติเรามักจะเล่าเรื่องบ้านที่เป็นทั้งบ้านและโรงงานกลิ่นยาสูบที่อบอวล สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้ฉันอยากสำรวจประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมบุหรี่ในอินโดนีเซีย”
คุณมีบทบาทอย่างไรในเวอร์ชัน Netflix
“ฉันขอเป็นหนึ่งในทีมเขียนบท และพวกเขาก็ตกลง เรามีทีมเขียน 4 คน ฉันรับผิดชอบตอนที่ 3 ทุกฉบับต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อส่งให้ทีม Netflix ระดับภูมิภาค ความท้าทายคือการรักษาความเป็นอินโดนีเซียไว้ในขณะที่ทำให้เข้าถึงผู้ชมทั่วโลก”
ประสบการณ์และการยอมรับในระดับโลก รู้สึกอย่างไรเมื่อได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
“ยังรู้สึกเหมือนฝันอยู่เลย! ตอนที่ถูกเสนอชื่อก็ถือว่าสุดยอดแล้ว ไม่คิดว่าจะได้รางวัลร่วมกับ Three-Body Problem มันเกินความคาดหวังจริง ๆ ฉันรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องที่น่ายินดี ไม่ใช่แค่สำหรับฉัน แต่สำหรับอินโดนีเซียทั้งประเทศ”
คุณอยากให้ผู้ชมได้รับอะไรจากผลงานของคุณ
"ฉันหวังว่าผู้อ่านจะสนใจอินโดนีเซีย ประวัติศาสตร์ ความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยถูกเล่าถึง การเล่าเรื่องเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมกัน และฉันอยากให้ทุกคนเข้าใจเราให้มากขึ้นผ่านสิ่งที่ฉันเขียน"
อุตสาหกรรมบุหรี่เคยถูกใช้ในหาเสียงทางการเมืองของอินโดนีเซีย
“ใช่! ในอดีต พรรคการเมืองจะใส่โลโก้ของตัวเองลงบนซองบุหรี่และแจกเป็นของหาเสียง มันเข้าถึงผู้คนได้ง่าย ทุกคนสูบบุหรี่ได้ ต่างจากปัจจุบันที่แจกเสื้อยืด การค้นพบนี้มีผลต่อเนื้อเรื่องมาก เพราะมันแสดงถึงพลังของสิ่งเล็ก ๆ ที่ส่งผลอันยิ่งใหญ่”
อนาคตของนิยายและบทภาพยนตร์ หลังจาก Cigarette Girl กลายเป็นซีรีส์ คุณอยากทำงานบทภาพยนตร์มากขึ้นไหม
“สำหรับฉัน นิยายคือพื้นที่แห่งอิสระ ส่วนบทภาพยนตร์คือการทำงานในระบบ ฉันเริ่มจากนักเขียนบทมาก่อนก็จริง แต่การดัดแปลง Cigarette Girl มันต่างออกไปเพราะเป็นเรื่องของฉัน ฉันอยากมีส่วนร่วมให้มากที่สุด และถึงแม้ว่าฉันจะยินดีถ้ามีคนดัดแปลงนิยายของฉันอีก แต่ต่อไปฉันอยากเขียนเรื่องใหม่เพื่อดัดแปลงมากกว่า เพื่อให้แยกบทบาทนักเขียนกับนักเขียนบทอย่างชัดเจน”
ดัดแปลงผลงานตัวเองยากไหม
“ยากมาก ต้องรื้อเรื่องของตัวเองและประกอบใหม่ ตัดฉากที่รักออกบ้างเพื่อให้เข้ากับสื่อเป็นงานที่เหนื่อยมากแต่ก็ได้เรียนรู้มหาศาล ถ้ามีใครอยากดัดแปลงนิยายฉันอีก ฉันอยากสร้างเรื่องใหม่สำหรับสิ่งนั้นโดยเฉพาะเลย”
ช่วยเล่าเรื่องผลงานใหม่: “Saga dari Samudra” (Saga from the Ocean)
“Saga dari Samudra” ผสมผสานตำนาน ศาสนา และประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย ตัวละครหลักคือ “Sunan Giri” หนึ่งใน “วะลีซองงอ” (Wali Songo) ปราชญ์ทั้งเก้าผู้เปลี่ยนอินโดนีเซียสู่โลกอิสลามในชวา ฉันหลงใหลในภาพลักษณ์อันเหนือธรรมชาติของท่าน ฉันอยากถ่ายทอดมนต์เสน่ห์นั้นด้วยกลิ่นอาย “มายาคติ” ที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมของเรา
คุณนำเรื่องราวของ “ซูนัน จีรี” มาถ่ายทอดอย่างไร
“มีเรื่องเล่าว่าท่านถูกแม่ลอยเรือในทะเลเพื่อเป็นการปกป้อง แล้วถูกพ่อค้าพบเข้า เชื่อว่าท่านมีอำนาจพิเศษ เลยตั้งชื่อว่า “Jaka Samudera” หรือ “เด็กชายแห่งท้องทะเล” แม้จะดูเหลือเชื่อ แต่ในอดีตมีผู้คนเชื่อจริงจัง ฉันอยากเคารพต่อความเชื่อและตำนานนั้น
ผลงานไหนมีความหมายกับคุณที่สุด?
“ก็คือเล่มล่าสุดเสมอ! ทุกเล่มที่เริ่มลงมือเขียนใหม่คือการเติบโต ฉันใส่สิ่งที่เรียนรู้ลงไปในแต่ละเรื่อง และตอนนี้ “Saga dari Samudra” คือสิ่งที่สะท้อนตัวฉันที่สุด”
คุณรู้สึกผูกพันกับนิยายประวัติศาสตร์มากที่สุดใช่ไหม
“ใช่ค่ะ นิยายประวัติศาสตร์ ทำให้ฉันผสานจินตนาการกับเหตุการณ์จริง เชื่อมอดีตกับปัจจุบัน และนั่นคือจุดมหัศจรรย์ของการเล่าเรื่อง”
ในยุคที่วงการบันเทิงเร่งรีบและต้องการความง่ายดาย ‘ราติห์ คุมาลา’ คือหลักฐานว่ายังมีพื้นที่ให้กับความลึกซึ้งและความจริงใจเสมอ
เธอคือตัวแทนของนักเล่าเรื่องรุ่นใหม่ ที่นำพามรดกทางวัฒนธรรมของตนเอง ก้าวสู่เวทีโลก พร้อมกล้าถ่ายทอดมันออกไปด้วยความศรัทธา
“เรื่องราวไม่ได้จบเมื่อถูกเล่าออกไป แต่มันเพิ่งเริ่มต้นการเดินทางเข้าสู่หัวใจของผู้อ่าน” — ราติห์ คุมาลา